คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตอีก 5 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2573 มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสิงคโปร์ได้แสดงความพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับภูมิภาคและโลก ผ่านการจัดงาน Asia Tech × Singapore ค.ศ. 2023 (ATXSG ค.ศ. 2023) โดยสํานักงานการพัฒนาสารสนเทศ การสื่อสาร และสื่อ (Infocomm Media Development – IMDA) โดยงาน ATXSG ค.ศ. 2023 ประกอบด้วย ช่วงการประชุมสุดยอด ATxSummit ซึ่งผู้ร่วมงานคือผู้ที่ได้รับเชิญ และเนื้อหาเน้นการหารือเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีในการพัฒนาอนาคตแห่งดิจิทัลร่วมกัน และช่วง ATxEnterprise ซึ่งเป็นเวทีเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไปได้อภิปรายในหัวข้อที่น่าสนใจ
งาน ATXSG ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 17,000 คน ผู้กล่าวอภิปรายกว่า 350 คน ผู้สนับสนุนและผู้จัดแสดงนิทรรศการกว่า 1,000 ราย โดยผู้นําจากต่างประเทศที่เข้าร่วมงาน เช่น นายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเนเธอร์แลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารฟิลิปปินส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและนวัตกรรมลิทัวเนีย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รวมถึงนาง Jacinda Ardern อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และสําหรับประเทศไทย ศาสตราจารย์ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้นําคณะเข้าร่วมงานดังกล่าว
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ กล่าวในการเปิดงาน Asia Tech × Singapore ค.ศ. 2023 (ATXSG) โดยเน้นมุมมองของสิงคโปร์ต่อเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ต้องการมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความเชื่อมโยงดิจิทัลทั้งทางกายภาพตามแผน Digital Connectivity Blueprint ซึ่งรวมถึงการพัฒนาเครือข่ายเคเบิลใต้น้ําความเร็ว 10 กิกาบิตส์ต่อวินาที และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ใช่กายภาพ ได้แก่ (1) อัตลักษณดิจิทัล (2) การแจ้งหนี้และการจ่ายเงินทางดิจิทัล (3) การแลกเปลี่ยนข้อมูล และ (4) การรับรองเอกสารดิจิทัล ซึ่งเป็นพื้นฐานสําคัญของการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่ช่วยส่งเสริมการทําธุรกรรมดิจิทัลที่ไร้รอยต่อและปลอดภัย
ทั้งนี้ สิงคโปร์ยังมีระบบความเชื่อมโยงการชําระเงินข้ามพรมแดน แบบ real-time ระหว่างสิงคโปร์กับไทย (PromptPay-PayNow) และระหว่างสิงคโปร์กับอินเดีย (Unified Payments Interface) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่สิงคโปร์ประสงค์จะขยายผลไปยังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
นอกจากนี้ สิงคโปร์ได้จัดทําโครงการ Trade Trust ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเอกสารทางการค้าแบบดิจิทัลกับต่างประเทศ โดยได้จัดทํากับสหราชอาณาจักร สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ทั้งนี้ สิงคโปร์ให้ความสําคัญและร่วมมือกับนานาประเทศในการต่อต้านการโจมตีทางไซเบอร์และการโจรกรรมทางไซเบอร์ รวมทั้งการส่งเสริม data flows โดยคํานึงว่าการทําธุรกรรมที่ปลอดภัยสําหรับประชาชนเป็นพื้นฐานที่สําคัญยิ่งของเศรษฐกิจดิจิทัล
สิงคโปร์ยังได้จัดทําความตกลงด้านเศรษฐกิจดิจทัลทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคีกับนานาประเทศ ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐเกาหลี และชิลี และอยู่ระหว่างการจัดทําความตกลงเศรษฐกิจดิจทัลในระดับอาเซียน
การจัดทํากฎระเบียบเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้ใช้ AI ในทางที่ผิดเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สิงคโปร์ให้ความสําคัญอย่างยิ่ง โดยสิงคโปร์ได้จัดทํา Model Al Governance Framework เป็นประเทศแรกในเอเชียเมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยการพัฒนาสู่ดิจิทัลที่รวดเร็วนั้นมีผลต่อการจ้างงานและการถูกเลิกจ้างของกลุ่มพนักงานออฟฟิศและผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลสิงคโปร์ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนจึงได้จัดทําโครงการพัฒนาและเพิ่มพูนทักษะด้านดิจิทัลแก่ประชาชนสิงคโปร์ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันในโลกที่เปลี่ยนเป็นดิจิทัลยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงการให้ทางเลือกเพิ่มเติมนอกเหนือจากบริการดิจิทัล ให้แก่ประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อาจยังมีปัญหาเรื่องการใช้งานเครื่องมือทางดิจิทัลในการรับบริการของรัฐ
การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ปลอดภัยเพื่อประชาชน (AI for Public Good and Social Good)
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 นาง Josephine Teo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ (MCI) สิงคโปร์ กล่าวเปิดการประชุม Asia Tech × Artificial Intelligence (ATxAI) Conference กล่าวถึงความเข้าใจของสิงคโปร์ต่อความท้าทายจากการพัฒนา AI ที่รวดเร็วและภัยจากการนํา AI ไปใช้ในทางที่ผิดของผู้ไม่หวังดี อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์เห็นความจําเป็นในการเดินหน้าพัฒนา AI อย่างสร้างสรรค์ต่อไป เพื่อให้ AI เป็น “Augmented Intelligence” หรือการใช้ AI ยกระดับการทำงานและความสามารถของมนุษย์ ช่วยสนับสนุนการทํางานมากกว่าการแย่งงานมนุษย์ และช่วยสร้างสรรค์สังคมสิงคโปร์ในทุกด้าน อาทิ การใช้ AI เพื่อประมวลผลข้อคิดเห็น และตอบคําถามประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และการบริหารจัดการท่าเรือขนส่งสินค้าของสิงคโปร์
นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์มุ่งมั่นที่จะใช้ AI สนับสนุนการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ได้แก่ (1) การใช้ AI เพื่อส่งเสริมการแพทย์แม่นยํา (precision medicine) โดยศึกษาความเชื่อมโยง DNA ของกลุ่มตัวอย่างชาวสิงคโปร์ 100,000 คน เนื่องจากสิงคโปร์กําลังก้าวสู่สังคมสูงอายุแบบเต็มขั้น (super-aged society) (2) การใช้ AI เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนและบรรลุเป้าหมาย Net Zero โดยเฉพาะการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ (3) การใช้ AI ในการศึกษา ที่ผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนที่เหมาะกับตนเองและผู้สอนสามารถทุ่มเทเวลากับการสอนได้มากขึ้น
อีกทั้ง รัฐมนตรี Teo ได้ประกาศการจัดตั้งหน่วยงาน AI Verify Foundation เพื่อวางกลยุทธ์และมาตรฐานการพัฒนา AI ของสิงคโปร์ร่วมกับบริษัทชั้นนําของโลก ซึ่งรวมถึง IBM Google Microsoft Red Hat Salesforce และ Aicadium ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะเชิงลึก
สำหรับประเทศไทย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนา (พ.ศ. 2565-2570) ที่มีเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนา AI อย่างยั่งยืน และมีการเผยแพร่เอกสารแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของไทยเพื่อวางแผนแนวทางพัฒนา AI ที่สร้างสรรค์ และไทยก็มีการส่งเสริมเครือข่ายการต่อต้านและการแจ้งเตือน scams และการสร้างธรรมาภิบาลด้าน AI เพื่อความปลอดภัยด้านดิจิทัลสูงสุดของประชาชน
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์