สถานการณ์ตลาดท่องเที่ยวในญี่ปุ่นมีความตื่นตัวอย่างมากในช่วงวันหยุดยาว Golden Week (สิ้นเดือนเมษายน – สัปดาห์แรกเดือนพฤษภาคม) ประเมินได้จากยอดจองที่พัก รถไฟชินกันเซ็น บัตรโดยสารเครื่องบินและแพ็กเกจทัวร์ที่เพิ่มขึ้นในทุกช่องทาง แม้จะยังไม่มากเท่าก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม ในขณะที่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มียอดจองแพ็กเกจทัวร์มากสุดเป็นอันดับที่ 2 ผ่านช่องทาง HIS และ Skyscanner ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสําหรับนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่กําลังพิจารณาเดินทางมาประเทศไทยในอนาคต
ปัจจุบันญี่ปุ่นได้ยกระดับ Travel Warning ให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ 2 “หลีกเลี่ยงการเดินทางหากไม่จําเป็น” จากเดิมระดับ 3 “หลีกเลี่ยงการเดินทางทุกประเภท” และมีการเลิกการกักตัวสําหรับผู้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม รวมไปถึงการยอมรับผลการตรวจในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น (ยกเว้น Antigen Kit) นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นสามารถยื่นคําร้องขอทําหนังสือเดินทางใหม่หรือต่ออายุผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 นี้เป็นต้นไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลเชิงบวกต่อการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคต่อการเดินทางการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวญี่ปุ่นก็มีเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องและอัตราค่าครองชีพในญี่ปุ่นสูงขึ้น การจํากัดจํานวนผู้เดินทางเข้าญี่ปุ่นเพียงวันละ 1 หมื่นคน ความล่าช้าของมาตรการด้านสาธารณสุขและการตรวจคนเข้าเมืองที่ท่าอากาศยานรวมไปถึงปัญหาการตรวจ PCR ก่อนเข้าประเทศญี่ปุ่น 72 ชม. และความเสี่ยงหากผลตรวจเป็นบวกก่อนเข้าประเทศจะต้องกักตัวเพิ่มทันที
จากสถานการณ์การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นข้างต้น ทำให้เห็นว่าชาวญี่ปุ่นอาจสามารถเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งประเทศไทยก็อาจเป็นหนึ่งในประเทศปลายทางของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นหลายคน ซึ่งอาจถูกดึงดูดจากอาหาร วัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งจากกระแสละครไทยและดนตรีไทย (T-Pop) ก็ตาม ดังนั้นผู้ประกอบการไทย ควรใช้โอกาสนี้ในการเตรียมพร้อมพัฒนาธุรกิจเพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวจากต่างแดนที่กำลังจะเดินทางเข้าประเทศไทยอีกครั้งในอนาคตอันใกล้
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์