เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ได้เดินทางศึกษาดูงานแหล่งแปรรูปขยะเป็นพลังงานจำนวน 2 แห่ง ในเมือง Vaasa ประเทศฟินแลนด์ ตามคำเชิญของนายกเทศมนตรี โดยมีรายละเอียดการศึกษาดูงาน ดังนี้
Westenergy เป็นโรงไฟฟ้าจากขยะปลอดมลพิษที่ใหญ่เป็นลําดับ 2 ของฟินแลนด์ (รองจากอันดับ 1 ที่เมือง Vanta ใกล้กรุงเฮลซิงกิ) โดยนําขยะของเมืองมาใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยใช้ขยะผสม (mixed waste) ที่ไม่สามารถรีไซเคิลแล้ว นำมาแปรรูปเป็นพลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้า โดยการเผาในเตาเผาขยะ (incineration) และนําความร้อนที่ได้มาใช้กับหม้อต้มน้ำ (boiler) โดยไอน้ำที่มีความร้อนสูงมากจะวิ่งผ่านกังหันไอน้ำและเข้าสู่เครื่องปั่น (generator) ไฟเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งผ่านโครงข่ายส่งและจ่ายกระแสไฟฟ้าของเมือง (grid) และอีกส่วนหนึ่งจะส่งเข้าท่อกระจายความร้อนเพื่อเป็นพลังงานความร้อนและกระแสไฟฟ้าให้แก่ชุมชน (district heat & electricity)
แหล่งแปรรูปพลังงานไฟฟ้าจากขยะแห่งนี้ รวมแล้วมีขยะประมาณ 190,000 ตันต่อปีที่นํามาเผารวม และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 15 เมกะวัตต์และไอความร้อน 55 เมกะวัตต์ โดยเถ้าขยะที่โดนเผาแล้วยังสามารถนําไปเป็นส่วนผสมในการสร้างถนนได้ถึง 90,000 ตันต่อปี และมีระบบกําจัดสารพิษหรือสิ่งเจือปนในน้ําหรือไอน้ําออกไปถึง 99% โดยใช้พนักงานทั้งสิ้น 34 คนในการควบคุมทั้งโรงงาน
Westenergy มีแผนจะทําระบบกําจัดหรือดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศมากกว่าที่ปล่อยออกมาให้แล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 2030 โดยจะนําคาร์บอนฯ ที่ดักจับไปใช้ในการผลิตก๊าซมีเทน เพื่อใช้ในภาคการขนส่งโดยเฉพาะการเดินเรือ นอกจากนี้ มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงงานผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนจากขยะขนาดใหญ่ที่สุดของฟินแลนด์ (ตั้งอยู่ที่เมือง Vanta ใกล้กรุงเฮลซิงกิ) มีความต้องการนําเข้าขยะเป็นจํานวนมาก จนต้องมีการซื้อขยะอัดแท่งจากอิตาลี
Stormsossen เป็นโรงพลังงานชีวมวลที่เปลี่ยนแปลงขยะชีวภาพ (biowaste) เป็น bio-gas ซึ่งได้มาจากกระบวนการสลายขยะชีวภาพภายใต้สภาวะไร้ออกซิเจน โดยมีองค์ประกอบหลักคือก๊าซมีเทน ทั้งนี้ พลังงานที่ได้รับจะนําไปใช้ในก๊าซที่ใช้เติมรถบัสโดยสารของเมือง Vaasa รวมถึงก๊าซหุงต้มสําหรับใช้ในครัวเรือน และ ระบบการทําความร้อนให้ภาคครัวเรือนในเมือง ส่วนกากขี้เถ้าที่ได้จากการเผาไหม้จะนําไปใช้เป็นปุ๋ย และนอกจากนี้ ทางบริษัทยังดําเนินการจัดการด้านขยะอย่างครบวงจร อาทิ การรับขายขยะทุกประเภท ทั้งประเภทที่สามารถรีไซเคิลได้ ขยะชีวภาพ พลาสติก ไม้ ฯลฯ โดยรถที่นำขยะมาทิ้งจะต้องชําระเงินให้กับบริษัทฯ และบริษัทฯ จะแลกเปลี่ยนเป็นก๊าซโดยเติมให้แก่รถคันนั้นแทน
สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าไทยสร้างขยะมากกว่าปีละ 27 ล้านตัน และรัฐบาลต้องเสียเงินค่าอุดหนุนในการจัดการขยะถึง 17,200 ล้านบาท ซึ่งการผลิตพลังงานจากขยะเพื่อใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีของไทยในสภาวะวิกฤติพลังงานโลก และสามารถช่วยแก้ไขปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องภายในประเทศ โดยสามารถเรียนรู้แนวทางปฏิบัติที่ดีได้จากฟินแลนด์ในเรื่อง Circular Economy โดยเฉพาะการวางแผนและการดําเนินการที่เป็นระบบครบวงจร ที่มีการวางแผนล่วงหน้าตั้งแต่ต้นน้ําจนถึงปลายน้ําในการสร้างระบบกําจัดขยะและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในการคัดแยกขยะ
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์