ธุรกิจขนส่งทางอากาศของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีแนวโน้มเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางบินกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่กำลังจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติเหมือนกับในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ตามการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเติบโตของการค้าออนไลน์
ล่าสุด สายการบินยักษ์ใหญ่ China Southern Airlines สาขากว่างซี ได้ประกาศฟื้นฟูเที่ยวบินระหว่างประเทศใน เส้นทาง ‘นครหนานหนิง-กรุงเทพ’ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวช่วงหน้าร้อน เริ่มให้บริการในวันที่ 10 กรกฎาคม 2566
การเดินทางระหว่างประเทศของเขตฯ กว่างซีจ้วงมีแนวโน้มเติบโตสอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีวัตถุประสงค์การเดินทางที่หลากหลาย ทั้งท่องเที่ยวพักผ่อน ศึกษาต่อ รักษาพยาบาล รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจไมซ์ (MICE- Meeting, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) โดยเฉพาะเส้นทางบินมายังประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีผู้ให้บริการอยู่ 4 สายการบิน ได้แก่ GX Airlines (ให้บริการทุกวัน) Spring Air (ทุกวันจันทร์และพุธ) Nok air (ทุก วันจันทร์ พุธ ศุกร์ และอาทิตย์) และ China Southern Airlines (ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ และอาทิตย์)
ในด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตได้ดีตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ บริษัท Guangxi Civil Aviation Development Co.,Ltd. ภายใต้ Guangxi Airport Group เผยว่า หลายปีมานี้ บริษัทฯ ได้เปิดให้บริการเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Air Cargo) ไปยังชาติสมาชิก RCEP แล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเมียนมา
นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2565 – พฤษภาคม พ.ศ. 2566 การขนส่งสินค้าทางอากาศกับ 7 ประเทศที่กล่าวมา มีสัดส่วนมากถึง 71.8% ของปริมาณขนถ่ายสินค้าทางอากาศของนครหนานหนิง ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2566 ปริมาณการขนถ่ายสินค้ามีสัดส่วน 60.4% ของปริมาณขนถ่ายสินค้าทางอากาศของนครหนานหนิง ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าในเชิงลึกกับชาติสมาชิก RCEP
ประเด็นที่น่าจับตามอง คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์โดยเฉพาะด้านสินค้าเกษตร ในบริบทที่ฟิลิปปินส์เพิ่งได้ให้สัตยาบันความตกลง RCEP โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566 จะช่วยเปิดโอกาสให้กับสินค้าเกษตร รวมถึงสินค้าประมง พลาสติก แก้ว และชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งฟิลิปปินส์ไม่ได้เปิดตลาดภายใต้กรอบ FTA (อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์)
สำหรับเขตฯ กว่างซีจ้วง ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างนครหนานหนิง-ฟิลิปปินส์ มี 3 เส้นทาง ได้แก่ นครหนานหนิงกับกรุงมะนิลา ดาเวา (Davao) และเซบู (Cebu) โดยสินค้าที่ส่งออกไปฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เป็นสินค้า e – Commerce ขณะที่สินค้าที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประมงและสินค้าเกษตร ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 – พฤษภาคม 2566 สินค้าที่ขนส่งผ่าน 3 เส้นทางบิน มีปริมาณ 19,641.4 ตัน คิดเป็น 19.3% ของปริมาณขนถ่ายสินค้าทาง อากาศของนครหนานหนิง
ปัจจุบัน ฟิลิปปินส์เป็นแหล่งนำเข้ากล้วยหอมและสับปะรดรายใหญ่ที่สุดของจีน ขณะที่จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับ 3 ของฟิลิปปินส์ โดยฟิลิปปินส์สามารถส่งออกผลไม้สดไปจีนได้ 7 ชนิด ได้แก่ กล้วยหอม (75% ของการส่งออกผลไม้ไปจีน) สับปะรด มะม่วง มะละกอ มะพร้าว อะโวคาโด และทุเรียน (ผลไม้ที่ได้รับอนุญาตมีความทับซ้อนกับผลไม้ไทย ยกเว้นอะโวคาโด)
โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย
การขนส่งทางอากาศ ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างประเทศ สะท้อนพัฒนาการที่น่าจับตามอง คู่ค้าหลายประเทศในอาเซียนสามารถกลับมา reconnect กับเขตฯ กว่างซีจ้วงได้อีกครั้งโดยใช้ประโยชน์จากช่องทางการขนส่งที่หลากหลาย (ทั้งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล) ซึ่งผู้ประกอบการและภาคธุรกิจของไทยต้องเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ การกลับมาให้บริการเที่ยวบินตรงในเส้นทาง ‘นครหนานหนิง-กรุงเทพ’ ของสายการบิน China Southern Airlines น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเชิงบวกที่ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างจีน (กว่างซี) กับประเทศไทย รวมไปถึงช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูความร่วมมือที่เคยหยุดชะงักไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนในภาคประชาชน และการเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค โดยเฉพาะการจัดงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน ครั้งที่ 20 ที่จะเปิดฉากขึ้นที่นครหนานหนิง ในเดือนกันยายน 2566 นี้
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์
อ้างอิง:
- จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
- ที่มา www.gx.chinanews.com.cn www.customs.gov.cn
- ภาพประกอบ www.zhihu.com/org/zhong-guo-nan-fang-hang-kong