สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2565 เยอรมนีมีการส่งออกยานยนต์ EV กว่า 500,000 คัน มูลค่ารวม 24.2 พันล้านยูโร โดยเป็นสถิติการส่งออกที่เพิ่มขึ้นกว่า 65.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีการส่งออกเพียง 300,000 คัน โดยประเทศลูกค้าของเยอรมนีสองอันดับแรก คือสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ สถิติการนําเข้า ยานยนต์ EV ของในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่จํานวน 358,000 คัน ซึ่งมากกว่าปี พ.ศ. 2564 ที่ 22.2%ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 มีการจดทะเบียนยานยนต์ EV ในเยอรมนี รวม 1,013,009 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยยานยนต์ EV คิดเป็น 2% ของยานยนต์ทั้งหมดในเยอรมนี โดยในปี พ.ศ. 2565 บริษัทที่มียอดขายยานยนต์ EV สูงสุดในเยอรมนี คือ Tesla Volkswagen และ Hyundai ตามลําดับ
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทยานยนต์หลายยี่ห้อทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ได้มีการประกาศการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ EV ในเยอรมนี ดังนี้
- บริษัท Tesla เปิดโรงงาน Gigafactory แห่งแรกในยุโรปที่เมือง Grünheide รัฐ Brandenburg เมื่อปี พ.ศ. 2565 แต่ล่าสุด Tesla ได้ระงับแผนการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่สําหรับยานยนต์ไฟฟ้าแบบไม่มีกําหนด โดยจะหันไปเน้นขยายการผลิตเพิ่มเติมในสหรัฐอเมริกาแทน หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act ซึ่งมีเงื่อนไขที่เอื้อต่อบริษัทมากกว่า
- บริษัท Stellantis หรือผู้ผลิตแบรนด์รถยนต์ Opel ได้ประกาศลงทุนในเมือง Eisenach รัฐ Thüringen เพื่อเริ่มผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle – BEV) ในปี พ.ศ. 2567
- บริษัท Wolfspeed ผู้ผลิตชิปรายใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ก็มีการประกาศลงทุนจํานวน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปสําหรับยานยนต์ EV และจะสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาในรัฐ Saarland บนพื้นที่ของอดีตโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยคาดว่าจะได้รับเงินอุดหนุนจากอียูจํานวนกว่า 20% ของเงินลงทุน และมีแผนเริ่มผลิตในปี พ.ศ. 2570
- บริษัท Northvolt จากสวีเดน ผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ในยุโรป ประกาศลงทุนสร้างโรงงานในเมือง Heide รัฐ Schleswig-Holstein โดยคาดว่าจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเยอรมนีและสหภาพยุโรป รวม 1 พันล้านยูโร นอกจากนี้ บริษัท Northvolt ยังมีแผนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในสหรัฐอมริกาเช่นกัน จากการได้รับเงินอุดหนุนภายใต้ Inflation Reduction Act
ซึ่งที่ผ่านมาคณะ EEC ได้มีการเชิญชวนบริษัทเยอรมนีให้มาลงทุนในอุตสาหกรรม EV และระบบนิเวศ EV (โดยเฉพาะแบตเตอรี่) ในประเทศไทยมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีบริษัทใดให้การตอบรับที่ชัดเจน โดยที่ผ่านมา แม้รัฐบาลเยอรมนีจะชูนโยบายการกระจายการค้าการลงทุนออกจากจีน แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการกระจายฐานการลงทุนในอุตสาหกรรมเดิมหรือการลงทุนในประเทศที่สามารถป้อนวัตถุดิบที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก (Critical Raw Material) ให้แก่เยอรมนี
ในขณะเดียวกัน เยอรมนีเองก็มีความพยายามอย่างมากในการดึงดูดการลงทุนเทคโนโลยีระดับสูงและนวัตกรรมใหม่จากต่างประเทศเข้ามาในเยอรมนี ซึ่งสำหรับประเทศไทย การเชิญชวนให้บริษัทของเยอรมนีที่ลงทุนในไทยหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นทุนเดิมนั้นทำการกระจายการลงทุนใน EV Ecosystem ในไทย ควรดําเนินการควบคู่ไปกับการเชิญชวนบริษัทใหม่ ผู้ประกอบการไทย จึงควรศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันสมัย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสในอนาคต
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์