ภาพรวมนโยบายการค้าต่างประเทศของอินเดีย
อินเดียได้ออกนโยบายการค้าต่างประเทศ (Foreign Trade Policy 2023: FTP 2023) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 เพื่อทดแทน FTP ฉบับปี ค.ศ. 2015-2020 ที่สิ้นสุดลง โดย FTP 2023 ฉบับล่าสุดนี้มีแนวคิดตามนโยบายการพึ่งพาตนเอง (Self-Reliance India – Atmanirbhar Bharat) ที่อินเดียใช้เป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจมาก่อนหน้า และวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถของอินเดียด้านการส่งออกบนพื้นฐานขนาดของประเทศและกำลังการผลิต
FTP 2023 ตั้งเป้าส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศและเป้าหมายการส่งออก ซึ่งกำหนดมูลค่าเป้าหมายที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2030 เพิ่มสัดส่วนของอินเดียในห่วงโซ่อุปทานโลกด้วย 4 แนวทางหลัก ได้แก่
- 1) เปลี่ยนจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (incentives) เป็นการเว้นจากภาระภาษี (tax remission)
- 2) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าและธุรกิจ
- 3) ส่งความร่วมมือระหว่างผู้ส่งออก หน่วยงานรัฐ เขต และหน่วยงานอินเดียในต่างประเทศ
- 4) ส่งเสริมการค้ารูปแบบใหม่ เช่น e-commerce
รายละเอียดประเด็นผลักดันของ FTP 2023 มีดังนี้
- 1) เพิ่ม Ease of Doing Business โดยเน้นการใช้ IT และ automation เช่น การอนุมัติใบอนุญาต
ประกอบธุรกิจแบบออนไลน์ การออก e-Certificate of Origin และการลดค่าธรรมเนียม MSME - 2) ส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศโดยใช้เงินสกุลรูปี สร้างมาตรฐานรับรองและการจัดอันดับ ส่งเสริมการส่งออกกลุ่ม SCOMET (Special Chemicals, Organisms, Materials, Equipment and Technologies)
- 3) พัฒนาเขต (ระดับรัฐ) เป็นพื้นที่ส่งออก สร้างกลไกระดับรัฐ/เขต (District and Export Hubs Initiative)
เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ผลักดันโครงการ Towns of Export Excellence – TEEs (ปัจจุบันมี 39 เมือง) เพื่อสร้างจุดเด่นด้านการส่งออกให้แก่เมืองต่าง ๆ โดยเพิ่มอีก 4 เมือง คือ Faridabad Mirzapur Moradabad และ Varanasi ตลอดจนพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์ การฝึกอบรม การตลาด รองรับด้านการส่งออก - 4) ส่งเสริม e-commerce ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 200-300 พันดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2030 โดยกำหนดแผนจัดตั้ง e-commerce hubs ลดขั้นตอน/อำนวยความสะดวกการส่งออกที่ทำธุรกรรมผ่าน e-commerce และอบรมพัฒนาความรู้แก่ผู้ผลิต ผู้ส่งออกที่เป็นช่างฝีมือ สิ่งทอ ผ้าทอมือ อัญมณีและเครื่องประดับ และการออกแบบเครื่องประดับ
- 5) ส่งเสริมการผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก โดยยังคงการอำนวยความสะดวกการนำเข้าสินค้าทุนที่จำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกภายใต้ Export Promotion of Capital Goods (EPCG) Schemeและ Advance authorization Scheme อนุญาตการนำเข้าในอัตราภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ เพิ่มสินค้าบางรายการที่สามารถลดหย่อนภาษีสินค้าทุน เช่น สินค้าที่ผลิตภายใต้โครงการ Prime Minister Mega Integrated Textile Region and Apparel Parks (PM MITRA) ผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์-เครื่องมือที่ใช้แบตเตอรี่ EV เช่น รถยนต์ทุกชนิด เครื่องจักรการเกษตร การบำบัดน้ำเสียที่เป็น Green Technology สิ่งทอ-เสื้อผ้า ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนนโยบาย Make In India
- 6) ส่งเสริมให้เมืองสำคัญเป็นศูนย์กลางการค้า (Merchanting Trade Hub) ของภูมิภาค ในลักษณะเดียวกับดูไบ สิงคโปร์ และฮ่องกง
โอกาสและความท้าทายต่อประเทศไทย
FTP 2023 เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับไทย
ผู้ประกอบการไทยอาจได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าที่เป็นทุนการผลิต ความสะดวกจาก e-commerce สำหรับส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ หรือเป็นหุ้นส่วนการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีและความรู้ขั้นสูง ตลอดจนได้อานิสงส์จาก FTA ระหว่างอินเดียกับประเทศต่าง ๆ
ขณะเดียวกันก็อาจกระทบต่อการขยายตลาดในอินเดียสำหรับสินค้าหลายรายการหากผู้ประกอบการอินเดียมีขีดความสามารถมากขึ้น
ทั้งนี้ สามารถสืบค้น FTP 2023 ฉบับเต็มได้ที่ https://www.dgft.gov.in/CP
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์