เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีสเปนได้อนุมัติพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศในสเปน (Real Decreto 571/2023, de 4 de julio, sobre inversions exteriores) ฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับ EU Regulation 2019/452 ของสหภาพยุโรปในเรื่องของการกลั่นกรองการลงทุนจากต่างประเทศและปรับลดอุปสรรคกระบวนการลงทุนจากต่างประเทศหลังจากสถานการณ์โควิด-19
พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ยังได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติให้มีความครอบคลุมและโปร่งใสมากขึ้น ตลอดจนสามารถตรวจสอบและประเมินผลการลงทุนได้ดีกว่าระเบียบปัจจุบันด้วย โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น การลดขั้นตอนการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ (รอผลการพิจารณาภายใน 3 เดือน จากเดิม 6 เดือน) และการกำหนดประเภทของกิจการต่างชาติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เป็นต้น
อีกทั้งประเด็นที่น่าสนใจของ พ.ร.ฎ. ดังกล่าว คือ การกำหนดประเภทการลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับการยกเว้นการขออนุญาตจากทางการสเปน ซึ่งประกอบด้วย (1) การลงทุนในสาขายุทธศาสตร์ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน การขนส่ง น้ำประปา สาธารณสุข การจัดเก็บข้อมูล การบินและอวกาศ หากผลประกอบการของบริษัทมีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านยูโร/ปี (2) การลงทุนในระยะสั้น และ (3) การลงทุนในสาขาพลังงาน ที่ไม่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงต่อประเทศ
ในปี พ.ศ. 2565 สเปนมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 34,178 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 13.9% จากปีก่อนหน้า โดยการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าครึ่งอยู่ในสาขาบริการที่ 55.1% รองลงมา คือ สาขาอุตสาหกรรมที่ 42.2% และการก่อสร้างที่ 2.5% ตามลำดับ
ในด้านแหล่งเงินลงทุนพบว่า สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศผู้ลงทุนหลักในปี พ.ศ. 2565 ด้วยมูลค่าการลงทุน 9,453 ล้านยูโร หรือ 27.7% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในสเปน ซึ่งขยายตัวเพิ่มถึง 123.6% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2564 ตามมาด้วย สหราชอาณาจักร 17.8% เยอรมนี 14% ฝรั่งเศส 10% ออสเตรเลีย 4% และเนเธอร์แลนด์ 3% ขณะที่ฮ่องกงเป็นผู้ลงทุนจากเอเชียที่มีสัดส่วนการลงทุนมากที่สุด (อันดับ 10) มูลค่า 632 ล้านยูโร หรือ 1.8%
ทั้งนี้ ตามรายงานของสถาบันธุรกิจ TBS Education ระบุว่า การขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศและบริษัทข้ามชาติชั้นนำอย่างต่อเนื่องในสเปน มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้สเปนเป็นฐานการส่งออกที่เข้มแข็งในภูมิภาค และยังสะท้อนว่า ปัจจุบัน ภาคเอกชนในสเปนมุ่งเน้นการขยายตลาดไปต่างประเทศ (Internationalization) มากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมความเป็นสากลของสินค้า/บริการ และขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งรวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสนับสนุนในการลงทุนและการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย โดยจากการศึกษาของสถาบัน TBS Education พบว่า เมื่อปี พ.ศ. 2565 เศรษฐกิจดิจิทัลของสเปนมีมูลค่าสูงถึง 22.6% ของ GDP รวมของสเปน โดยอยู่ในลำดับที่ 7 จาก 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
ติดตามสาระดี ๆ เกร็ดความรู้และโอกาสทางธุรกิจในสเปนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสเปน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ได้ที่ https://bic-madrid.thaiembassy.org
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์