หน่วยงานการประปาซิดนีย์ หรือ Sydney Water เริ่มการทดลองนวัตกรรมใหม่ในการบำบัดน้ำเสียเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ โดยใช้สาหร่ายเป็นตัวดักของเสียและสารพิษต่าง ๆ ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งธรรมชาติ
ในอดีต การบำบัดน้ำเสียโดยสาหร่ายถูกนำมาใช้ครั้งแรกที่ Northern Queenland และยังได้รับการยอมรับว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมครั้งสำคัญในการรักษาแนวปะการัง Great Barrier Reef
ปัจจุบัน น้ำเสียที่ถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูง ส่งผลให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้การประปาซิดนีย์ (Sydney Water) ได้มีการเริ่มนำร่องโครงการมูลค่า 1.5 ล้าน ดอลล์ลาร์ออสเตรเลียด้วยโครงการ Picton Water Resources Recovery Facility เพื่อบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แม่น้ำ ขจัดมลพิษ รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กลับคืนสู่แหล่งระบายน้ำอีกด้วย
ระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าวได้ถูกออกแบบจาก บริษัท Pacific Bio โดยเป็นระบบที่ปราศจากการใช้สารเคมี ดำเนินการทดลองด้วยบ่อบำบัดขนาดความกว้าง 2 เมตร และ ยาว 25 เมตร โดยการนำสาหร่ายพื้นเมืองขนาดเล็ก หรือ Oedogonium Macroalgae นำใส่ในบ่อเพื่อให้ร่างแหของสาหร่ายที่มีลักษณะเป็นเส้นนั้นสามารถดูดซับสารเคมีตกค้าง ซึ่งจะช่วยให้ลดปริมาณอะลูมิเนียมและทองแดงได้ครึ่งหนึ่ง โดยลดปริมาณเหล็กได้ร้อยละ 80 ลดปริมาณแมกนีเซียมได้ร้อยละ 70 ลดปริมาณสังกะสีได้ร้อยละ 90 และลดปริมาณไนโตรเจนได้เกือบเป็นศูนย์
ทั้งนี้ บริษัท Pacific Bio ได้มีการดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัย James Cook เพื่อพัฒนา “algal atlas” กล่าวคือ เป็นแค็ตตาล็อกรวบรวมสาหร่ายขนาดเล็ก สาหร่ายทะเล และหญ้าทะเล เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการบำบัดน้ำเสีย โดยนักวิทยาศาสตร์ประจำ Sydney Water เห็นว่า แม้กระบวนการบำบัดน้ำเสียดังกล่าวจะเป็นไปอย่างค่อนข้างล่าช้าในฤดูหนาวเนื่องจากปริมาณแสงแดดที่จำกัดและอุณหภูมิที่ต่ำลง แต่อย่างไรก็ดีสาหร่าย Macroalgae นับว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียด้วยเมมเบรน นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าจะขยายผลโครงการเพื่อใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) ต่อไปอีกด้วย
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sydneywater.com.au/water-the-environment/what-we-are-doing/current-projects/improving-our-wastewater-system/picton-water-recycling-plant.html
ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์