เพชรจากแล็บ (Lab Grown Diamond – LGD) เป็นเพชรแท้ที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ได้เพชรที่มีคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพ และเล่นไฟไม่ต่างจากเพชรธรรมชาติ และสามารถใช้เกณฑ์ 4Cs (Carat – Cut – Colour – Clarity) ในการดูได้เช่นเดียวกัน แต่ราคาย่อมเยากว่า 2 -3 เท่า ด้วยคุณสมบัติข้างต้น LGD จึงจัดเป็นเพชรแท้ ต่างจากเพชรเลียนแบบ เช่น ที่รู้จักกันดีอย่าง Cubic Zirconia (CZ) ที่แตกต่างจากเพชรทั้งองค์ประกอบทางเคมี (ZrO2) และทางกายภาพ คือ ค่าความแข็งโมห์สที่ 8.5
การสังเคราะห์เพชรเริ่มขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวกลางทศวรรษที่ 1950 และถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรม เช่น การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมีความแข็งและส่วนใหญ่มักมีสีน้ำตาลจึงไม่เป็นที่นิยมนำมาทำเครื่องประดับ
ต่อมาใน พ.ศ. 2513 เริ่มมีการพัฒนากระบวนการสังเคราะห์เพชรเพื่อใช้เป็นอัญมณี (gem-quality synthetic diamond) โดยทำให้มีความใส ขาว และสะอาดมากขึ้น จนเป็นที่ต้องการของตลาด เพชรสังเคราะห์จึงเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเมื่อ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดี LGD ส่วนใหญ่ราว 90% ยังคงนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ
ปัจจุบัน มีวิธีการสังเคราะห์เพชร 2 วิธี ได้แก่
(1) High Pressure High Temperature (HPHT) เป็นวิธีดั้งเดิม โดยจำลองสภาพการเกิดเพชรตามธรรมชาติในห้องทดลอง คือ อาศัยความร้อน 1,300 – 1,600 ℃ และความดันสูงกว่า 8.7 แสนปอนด์/นิ้ว² ในการเปลี่ยนสภาพกราไฟต์ไปสู่เพชร ใช้เวลาตลอดกระบวนการราว 3-4 สัปดาห์
2) Chemical Vapor Deposition (CVD) เป็นวิธีที่ดึงคาร์บอนจากก๊าซที่มีคาร์บอนสูง เช่น มีเทน (CH4) ในสภาพสุญญากาศโดยใช้ความร้อนราว 900 – 1200 ℃ และความดันปานกลาง และให้คาร์บอนนั้นตกสู่ diamond seeds และก่อตัวเป็นเพชร ใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ ซึ่งวิธีนี้จะมีสิ่งปนเปื้อนน้อยกว่าวิธี HPHT
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.gia.edu/hpht-and-cvd-diamond-growth-processes
นอกจากด้านราคาที่ย่อมเยากว่า 50-70% ทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นแล้ว LGD ยังมีจุดแข็ง คือ เป็นเพชรแท้ที่ตอบโจทย์กลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Gen Z (อายุ 25-35 ปี) เนื่องจาก LGD ไม่ข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการทำเหมืองเพชร ซึ่งในตอนต่อไปจะเป็นแนวโน้มทางการค้าการลงทุนและการต่อยอดในอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีที่มาจากเพชรแล็บ โดยจะมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยอย่างไรบ้าง
โปรดติดตาม!