สกุลเงินเชคเกลของอิสราเอลปรับตัวแข็งค่ามากสุดในรอบ 25 ปี โดยอัตราการแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 3.11 เชคเกลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้สกุลเงินเชคเกลแข็งค่าขึ้น 4 % ในช่วงปี 2564 และสูงถึง 10 % นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ขึ้น ซึ่งสกุลเงินเชคเกลเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งค่าขึ้นมากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าจะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจถึงอัตรา 2.95 เชคเกลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ปัจจัยที่ส่งผลให้สกุลเงินเชคเกลแข็งค่ามากขึ้น ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจอิสราเอลที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในสาขา High-tech ทำให้อุปสงค์เงินสกุลเชคเกลในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นด้วย
ธนาคารกลางอิสราเอลยังไม่ออกมาตรการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินของอิสราเอลได้ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่ต้องการให้อัตราเงินเฟ้อของอิสราเอลต้องสูงขึ้น แม้ว่าจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อภาคการส่งออกของอิสราเอล แต่อาจพิจารณาจำกัดการซื้อขายเงินตราต่างประเทศระยะสั้น อย่างไรก็ดี ในครึ่งแรกของปี 2564 ธนาคารกลางอิสราเอลได้ซื้อเงินตราต่างประเทศไปแล้วมูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และทยอยซื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถปรับลดค่าเงินเชคเกลลงอย่างมีนัยสำคัญได้
จากข้อมูลข้างต้น การแข็งค่าที่มากขึ้นของเงินสกุลเชคเกล ถือเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังอิสราเอล เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องแปรรูป ข้าว เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง โดยอิสราเอลสามารถเพิ่มการอุปโภคบริโภคในจำนวนที่มากขึ้น และไทยสามารถเพิ่มจำนวนการส่งออกไปยังอิสราเอลได้มากขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของสกุลเงินเชคเกลจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อภาคเอกชนไทยที่ต้องการลงทุนในอิสราเอลด้วย โดยนักลงทุนไทยจะประสบกับปัญหาต้นทุนประกอบการและค่าครองชีพในอิสราเอลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กอปรกับในเดือนเมษายน ปี 2565 อิสราเอลจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากเดิม 5,300 เชคเกลต่อเดือน เป็น 6,000 เชคเกลต่อเดือน ซึ่งเพิ่มมากถึง 13.2 % ดังนั้นนักลงทุนไทยควรจะศึกษาและเตรียมรับมือกับความเสี่ยงในการเข้าไปลงทุนในอิสราเอลต่อไป
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ