ปัจจุบัน จีนมีความต้องการด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้นตามสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ส่งสัญญาณเติบโตดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายมณฑลในจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายในการจัดหาแหล่งพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น และตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) โดยเฉพาะในภาวะที่แหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ) มีความผันผวนควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามแนวทางของรัฐบาลจีน (ถ่านหินสร้างมลพิษ)
อุปสงค์ด้านพลังงานจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากรกว่า 1/6 ของโลก ทำให้แนวโน้มการลงทุนด้านพลังงานในจีนเริ่มเปลี่ยนทิศ รัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านพลังงานทางเลือกเพิ่มมากขึ้นด้วยเหตุนี้ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ใช้ไม่หมดและมีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติรอบตัว เช่น ‘พลังงานลม’ จึงกลายเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยเทคโนโลยีกังหันลม
บนพื้นฐานที่มณฑลกว่างซี เป็นฐานผลิตพลังงานน้ำ ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีนอยู่แล้ว เขตฯ กว่างซีจ้วงกับการพัฒนาพลังงานทางเลือกจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกใหม่แต่อย่างใด นอกจากการผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการในมณฑลแล้ว กว่างซียังมีไฟฟ้าที่ส่งไปยังพื้นที่เศรษฐกิจทางฝั่งตะวันออก (ปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง) และขายให้กับเวียดนามด้วย
เขตฯ กว่างซีจ้วง มีเส้นแนวชายฝั่งทะเลคิดเป็นระยะทางยาวกว่า 1,600 กิโลเมตร ปัจจุบัน มีทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่ง จำนวน 9 แห่ง เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีกำลังการผลิตรวม 23.5 ล้านกิโลวัตต์ล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วง ได้เริ่มต้นโครงการสาธิตด้านพลังงานลมในทะเลอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยรู้จักชื่ออ่าวตังเกี๋ย) โดยเริ่มต้นที่เมืองฝางเฉิงก่าง (โครงการสาธิตดังกล่าวจะดำเนินการใน 2 เมืองริมทะเล คือ เมืองฝางเฉิงก่าง และเมืองชินโจว)
โปรเจกต์ที่เมืองฝางเฉิงก่าง มีเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า 1.8 ล้านกิโลวัตต์ (ที่เมืองชินโจว 9 แสนกิโลวัตต์) คาดใช้เงินลงทุน 24,500 ล้านหยวน สามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าได้ปีละมากกว่า 5,000 ล้านหน่วย สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าขั้นพื้นฐานได้ 5 ล้านหลังคาเรือน สร้างรายได้ผลประกอบการได้ปีละ 2,000 ล้านหยวน รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษี 800 ล้านหยวน สามารถลดการสิ้นเปลืองถ่านหิน 1.5 ล้านตัน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4 ล้านตัน หรือเท่ากับการปลูกป่า 33.65 ล้านต้น ทั้งนี้ คาดว่าเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าชุดแรกจะเริ่มส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ภายในสิ้นปี 2566 นี้ และก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการได้ภายในปี 2567
เขตฯ กว่างซีจ้วงให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานลมและห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อพัฒนาฐานการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่มีกำลังการผลิต 10 ล้านกิโลวัตต์และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมพลังงานลมในทะเลที่มีมูลค่าการผลิตแสนล้านหยวน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจมุ่งสู่ทะเล (Seaward Economy) ของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่มีคุณภาพสูง
โปรเจกต์ที่เมืองฝางเฉิงก่างจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมในกว่างซี โดยมุ่งเน้นที่การผลิตชิ้นส่วนประกอบหลัก (แกนหมุนใบพัด ห้องเครื่อง และเสา) และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง (อุปกรณ์ในห้องเครื่อง) รวมถึงการต่อยอดอุตสาหกรรม (การทำฟาร์มทะเล การผลิตพลังงานไฮโดรเจนจากน้ำ ทะเล และการกักเก็บพลังงาน) กลายเป็นห่วงโซ่อุตสาหกรรมแบบครบวงจร (งานสำรวจและออกแบบ การผลิตอุปกรณ์ การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การก่อสร้างและบำรุงรักษา การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยว)
กระแสพลังงานทางเลือกในกว่างซีเป็นอีกโอกาสของภาคธุรกิจไทยที่กำลังมองหาลู่ทางการลงทุนในจีน รัฐบาลกว่างซีกำลังมุ่งส่งเสริมการลงทุนจากธุรกิจต่างชาติโดยได้เน้นว่าธุรกิจต่างชาติจะได้รับการปฏิบัติด้วย ความเสมอภาคและทัดเทียมทางกฎหมายการแข่งขัน และการคุ้มครอง/สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนรวมทั้งได้พัฒนากลไก การทำงานเพื่อให้บริการและติดตามความคืบหน้าในการลงทุนรวมถึงเคาน์เตอร์รับเรื่องร้องเรียนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ