ระหว่างการประชุมรัฐสภาสิงคโปร์ ชุดที่ 14 สมัยประชุมที่ 2 นาง Halimah Yacob ประธานาธิบดีสิงคโปร์ ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะยังคงขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบันด้วยแนวคิด Meritocracyโดยให้ความสำคัญกับการปฏิรูปทางการศึกษาและการทำงานเพื่อให้ประชาชนได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์ นาย Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างพลวัตใหม่ในสังคมด้วย 5 แนวทางใหม่ (New Approaches) ได้แก่
1) แนวทางใหม่ด้านทักษะ (New approach on skill) โดยการขยายขอบเขตโครงการ KidSTART เพื่อสร้างพื้นฐานการศึกษาที่เข้มแข็งตั้งแต่เยาว์วัย ขยายอายุเข้าเรียนในสถานศึกษาของรัฐและสนับสนุนค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 3-4 ปี รวมถึงเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับศักยภาพของเด็กที่มีความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล ลดภาวะความเครียดของเด็กจากการแข่งขันเพื่อสอบเข้าโรงเรียนที่ดี ด้วยการทำให้ “ทุกโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่ดี” เปลี่ยนวิธีการวัดผลการเรียนให้แสดงศักยภาพในด้านต่าง ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตลอดจนการพัฒนาโครงการ SkillsFuture เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในทุกช่วงวัย โดยร่วมมือกับเอกชนในการจัดทำโครงการฝึกอบรมทักษะ เพื่อเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานโดยไม่ต้องยึดติดกับผลการเรียนหรือวุฒิการศึกษาในอดีต
2) นิยามใหม่ของความสำเร็จ (New definition of success) โดยการส่งเสริมแนวคิดเรื่องความสำเร็จที่มีความแตกต่างตามความสามารถของแต่ละบุคคล ผ่านการลดช่องว่างทางรายได้ในกลุ่มวิชาชีพ และให้การรับรอง (Accreditation) เพื่อแยกระดับความเชี่ยวชาญของช่างฝีมือ อาทิ ช่างไฟ ช่างประปา เป็นต้น รวมถึงการลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างกลุ่มผู้สำเร็จทางการศึกษาจากสถาบันอาชีวะ โพลีเทคนิค และมหาวิทยาลัย
3) แนวทางใหม่ในการสนับสนุนทางสังคม (New approach for social support) โดยเปลี่ยนจากการให้ความช่วยเหลือทางสังคม (Social assistance) สู่การเสริมสร้างพลังทางสังคม (Social empowerment) เพื่อให้ประชาชนรวมถึงกลุ่มผู้พิการสามารถพึ่งพาและพัฒนาตนเองได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการพัฒนาและปรับปรุงที่อยู่อาศัย การศึกษา และการดูแลสุขภาพ
4) แนวทางในการดูแลผู้สูงอายุ (New approach to caring for our seniors) โดยการเริ่มโครงการ Healthier SG เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพตั้งแต่วัยหนุ่มสาวด้วยรูปแบบมาตรการเชิงป้องกัน (Preventive healthcare) รวมถึงการดูแลสุขภาพจิต โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสาธารณสุขเพื่อผู้สูงอายุ 4 ประการ ได้แก่ 1) การสร้างบ้านพักคนชราในชุมชนเพิ่มเติม 2) การขยายเครือข่ายศูนย์ Active Aging Centers 3) การเพิ่มการเข้าถึงบริการการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน และ 4) การร่วมมือกับหุ้นส่วนชุมชนพันธมิตรเพื่อป้องกันภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม ทั้งนี้ ภายในปี พ.ศ.2573 ชาวสิงคโปร์ ร้อยละ 25 จะมีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก 7 ปีข้างหน้า
5) ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม (New emphasis on Collective Responsibility) โดยรัฐบาลสิงคโปร์มีความประสงค์ให้ทุกภาคส่วนอาศัยความร่วมมือร่วมใจกัน ทั้งภาครัฐ บริษัทเอกชน สหภาพแรงงาน ชุมชน และประชาชน ตลอดจนการส่งเสริมความเสียสละและจิตอาสา (Philanthropy and volunteerism) หรือการสร้างโอกาสให้กับประชาชนได้ร่วมกำหนดนโยบายและสร้างสรรค์สังคม อาทิ การบริหารจัดการพื้นที่ชุมชน และการให้พื้นที่เยาวชนเสนอแนวคิดเชิงนโยบายและสร้างอนาคตของสิงคโปร์
ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลสิงคโปร์ตระหนักดีว่ากำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การกล่าวของผู้นำระดับสูงในสิงคโปร์ข้างต้น แสดงให้เห็นถึงการสื่อสารต่อประชาชนเพื่อย้ำถึงการตระหนักถึงปัญหาที่ประชาชนกำลังเผชิญ และจะดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาความกังวลของประชาชนในทุกช่วงวัยและสาขาอาชีพ นอกจากนั้น ยังส่งสัญญาณต่อนักลงทุน บริษัทข้ามชาติ และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพ ว่าจะไม่หันไปดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการและสร้างภาระทางภาษี เพื่อแสดงถึงการป้องกันการไหลออกของการลงทุนในสิงคโปร์ และกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศมีการวางแผนทางการเงินและการดำรงชีวิตอย่างไม่ประมาทรวมถึงสร้างสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน