เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 นายอี จอง-โฮ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีทีเกาหลีใต้ (Mr. Lee Jong-ho), Minister of Science and ICT: MSIT) ได้ประกาศยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการพัฒนาให้เกาหลีใต้เป็นประเทศชั้นนำของโลกในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภาคอวกาศ และเทคโนโลยีควอนตัม โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
- ปัญญาประดิษฐ์ระดับไฮเปอร์สเกล (Hyperscale AI)
Hyperscale AI หมายถึง AI ที่มีประสิทธิภาพและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีในระดับสูงที่สุด เช่น ระบบ ChatGPT โดยปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็น 1 ใน 4 ประเทศที่ครอบครองเทคโนโลยี Hyperscale AI (อีก 3 ประเทศ ได้แก่ จีน อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา) โดยเกาหลีใต้ได้มีแผนการพัฒนาให้ประเทศเป็นผู้นำโลกในแพลตฟอร์ม Hyperscale AI รวมทั้งเป็น 1 ใน 3 มหาอำนาจของโลกด้าน AI ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของเกาหลีใต้ คือ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และไอซีที
รัฐบาลเกาหลีใต้จะเร่งพัฒนาระบบนิเวศสำหรับ Hyperscale AI เพื่อนำเทคโนโลยี Hyperscale AI ไปใช้ในสาขาวิชาชีพ เช่น กฎหมายและการแพทย์ โดยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ได้มีการจัดตั้ง consortium ระหว่างบริษัทเกาหลีใต้กว่า 105 แห่ง กับกลุ่มนักวิชาการ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของ AI โดยในระยะต่อไป รัฐบาลเกาหลีใต้ยังเตรียมผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนากับต่างประเทศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AI ในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน algorithm ของ AI
- อุตสาหกรรมอวกาศ
รัฐบาลเกาหลีใต้จะผลักดันให้อุตสาหกรรมอวกาศเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่เพื่อยกระดับเกาหลีใต้สู่มหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอวกาศ โดยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2566 กระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีทีเกาหลีใต้ได้ประกาศยุทธศาสตร์ระดับชาติฉบับแรกสำหรับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัม ซึ่งกำหนดทิศทางหลัก 7 ด้านสำหรับการขับเคลื่อนภาคอวกาศและเทคโนโลยีควอนตัมของเกาหลีใต้ เช่น แผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น โดยเกาหลีใต้จะจัดตั้ง Korea Aerospace Agency เพื่อรับผิดชอบโครงการอวกาศและการวิจัยนำโดยภาครัฐภายในสิ้นปี พ.ศ. 2566 และจะทดสอบการปล่อยจรวด Nuri อีก 3 ครั้งภายในปี พ.ศ. 2570
ทั้งนี้ เกาหลีใต้จะนำยาน Lunar Lander ลงจอดบนดวงจันทร์ให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2575 หลังจากที่เกาหลีใต้ได้ลงนาม Artemis Accords กับ NASA เมื่อปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นโครงการการส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศผู้ลงนามรายที่ 10 ในข้อตกลงนี้กับสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศแรกที่ลงนามในสมัยประธานาธิบดีไบเดน
- เทคโนโลยีควอนตัม
เกาหลีใต้จะขยายส่วนแบ่งตลาดโลกในด้านเทคโนโลยีควอนตัมจาก 1.8% (อันดับ 10) ในปี พ.ศ. 2566 เป็น 10% (อันดับ 4) ภายในปี พ.ศ. 2578 และเพิ่มจำนวนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีควอนตัมจาก 80 แห่งในปัจจุบัน เป็น 120 แห่ง โดยภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมลงทุน 3 ล้านล้านวอนภายในปี พ.ศ. 2578 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีควอนตัมของเกาหลีใต้ให้อยู่ในระดับ 85% เกาหลีใต้ยังเตรียมเพิ่มเงินลงทุนจาก 1.3 หมื่นล้านวอนในปัจจุบัน เป็น 2.1 แสนล้านวอนภายในปี พ.ศ. 2578 เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านเทคโนโลยีควอนตัมอีกด้วย
นอกจากนี้ เกาหลีใต้เตรียมจัดตั้งศูนย์วิจัยแห่งใหม่ และเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านควอนตัมในระดับปริญญาตรีกับปริญญาโทจาก 1,000 คนในปัจจุบันเป็น 10,000 คน และในระดับปริญญาเอกจาก 384 คนในปัจจุบัน เป็น 2,500 คน ภายในปี พ.ศ. 2578 พร้อมทั้งจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาเพื่อไปฝึกอบรมในต่างประเทศ
ด้านภาคเอกชน ขณะนี้เทคโนโลยีควอนตัมกำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากบริษัทชั้นนำของเกาหลีใต้ เช่น (1) Hyundai Motor ใช้เทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์ค้นหาวัสดุกระตุ้นปฏิกิริยาที่จำเป็นต่อการทำงานของเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน สำหรับรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน รุ่น Nexo (2) POSCO Holdings ใช้ quantum algorithm ในการพัฒนาวัสดุสำหรับแบตเตอรี่ที่ชาร์จใหม่ได้ (secondary battery materials) และ (3) SK Telecom ได้พัฒนา quantum cryptographic chip ซึ่งทำหน้าที่สร้างตัวเลขสุ่มแบบควอนตัมและฟังก์ชันการสื่อสารแบบเข้ารหัสใน single semiconductor
ทั้งนี้ คณะกรรมการจาก The National Assembly Broadcasting and ICT ได้ผ่านร่าง AI Act (อาจมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2566) ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกาหลีใต้ใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม โดยมีเนื้อหาคุ้มครองสิทธิด้านเนื้อหา (rights to content) ที่มนุษย์ผลิตขึ้นมาโดยใช้ AI ด้วย อย่างไรก็ดี ทุกประเทศ รวมถึงเกาหลีใต้จำเป็นต้องพัฒนากฎระเบียบระดับภาครัฐอย่างละเอียดเพื่อควบคุมดูแลการใช้ AI ไม่ให้มีช่องว่างในด้านความปลอดภัย และในขณะเดียวกันไม่ขัดขวางการพัฒนาระบบ AI
ข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล
เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์