เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 หอการค้าและอุตสาหกรรมไทยในเวียดนาม (ThaiCham) ร่วมกับธนาคาร Bank for Investment and Development of Vietnam (BIDV) ได้จัดงานสัมมนา Vietnam Economy: Achievements & Challenges ขึ้น โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบัน ตลอดจนแนวโน้มในอนาคต เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจการและการลงทุนในเวียดนาม ดังต่อไปนี้
จากสถานการณ์การประเมินเศรษฐกิจโลก ในไตรมาสแรกของปี 2566 ยังคงอยู่ในช่วงผันผวน ขณะเดียวกันก็นับว่ามีสัญญาณการฟื้นตัวเล็กน้อยที่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ การเปิดประเทศของจีน การฟื้นตัวของภาคธุรกิจการบริการ การลดลงของราคาพลังงานซึ่งเป็นผลมาจากการหาแหล่งพลังงานใหม่ (Diversified) การลดลงของอุปสงค์ อัตราเงินเฟ้อลดลงเล็กน้อยโดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะลดลงจากร้อยละ 7.6 ในปี 2565 เหลือร้อยละ 5.2 ใน ปี 2566 และการเพิ่มขึ้นของค่าแรงส่งผลให้ภาคครัวเรือนมีกำลังใช้จ่ายที่มากขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความท้าทายต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อาทิ 1) สถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน 2) อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงสูง สร้างแรงกดดันต่อตลาดการเงินและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 และรักษาระดับเดิมตลอดทั้งปี 3) ความผันผวนของภาคธนาคารในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของตลาดทุนโลก 4) ความเสี่ยงต่อสถานการณ์การขาดแคลนอาหารและพลังงานจากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโลก 5) ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อย (Mild Recession) จากสถานการณ์เศรษฐกิจบางพื้นที่ เช่น สหรัฐ และสหภาพยุโรป เป็นต้น
โดยการประเมินของเศรษฐกิจเวียดนาม GDP ในไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.32 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เห็นได้จากการส่งออกและ FDI ในช่วงไตรมาสแรกที่ลดลงร้อยละ 14.7 และ 38.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เวียดนามได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2566 ไว้ที่ร้อยละ 6.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนและประเด็นความท้าทายของปี 2566 ดังนี้
1) ปัจจัยสนับสนุนของปี 2566 ประกอบด้วย
- 1.1 โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปี 2565-2566 โดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ ภาคอสังหาริมทรัพย์ หุ้น การธนาคาร การก่อสร้าง โรงแรมและการจัดเลี้ยงตลอดจนการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งชาติ เพื่อกระตุ้นการเข้าถึงเงินทุนของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน รวมถึงการให้ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม ตลอดจนการใช้ประโยชน์จาก FTA โดยเฉพาะ CPTPP และ RCAP
- 1.2 การเปิดประเทศของจีนตั้งแต่ต้นปี 2566 ส่งผลให้การนำเข้า-ส่งออก และ FDI ของเวียดนามมีทิศทางที่ดี เนื่องจากจีนและฮ่องกงเป็นคู่ค้าสำคัญและเป็นนักลงทุนอันดับที่ 4 ของเวียดนาม
- 1.3 แนวโน้มการลดลงของอัตราเงินเฟ้อโลก คาดว่าอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าจะทยอยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อการลดดอกเบี้ยของ SBV และอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน(ดอง)ของเวียดนาม
- 1.4 การขยายตัวของธุรกิจบริการและภาคการค้าปลีกภายในประเทศในภาวะที่การส่งออกลดลง
2) ประเด็นท้าทายของปี 2566 ประกอบด้วย
- 2.1) การหดตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะโอกาสเกิด recession ในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป และอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงส่งผลให้ความต้องการสินค้า FDI และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
- 2.2) สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครน และ สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีน ส่งผลต่อความต้องการสินค้าและเพิ่มความเสี่ยงของสถานการณ์การขาดแคลนอาหารและพลังงาน
- 2.3 การกลับมาเปิดประเทศของจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการดึงดูด FDI
- 2.4 วิกฤติความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นกู้และตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งออกมาตรการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาและควบคุมโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ผิดกฎหมาย
- 2.5 แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย (NPL) -ที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
____________________________________
ข้อมูล : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
เรียบเรียง : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์