Frankfurt Digital Finance เป็นงานสัมมนาด้านการเงินที่สำคัญในยุโรป มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน นักลงทุน สถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ ด้านการเงิน เข้าร่วมอภิปรายแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ด้านการเงินในอนาคต โดยล่าสุดได้จัดงานครั้งที่ 4 เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
ภาพรวมตลาด Startups
ปี 2565 การดำเนินธุรกิจของ Startups/fintech เป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะการระดมทุนที่มูลค่าลดลงประมาณ 50% อัตราดอกเบี้ยสูง โดยเป็นผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งคาดว่าตลาด Startups น่าจะกลับมาคึกคักได้ในปี 67-68 อย่างไรก็ดี สถานการณ์นี้เป็นโอกาสทบทวนทั้งของ regulator และ startups เพราะการเกิด market correction จากตลาดที่เติบโตเร็วเกินไปได้ช่วยคัดกรอง เหลือ startups ที่มีคุณภาพที่อยู่รอดพ้นวิกฤต
การเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจแบบ ESG
ESG (Environment, Social, Governance) เป็นแนวโน้มสำคัญในการดำเนินธุรกิจภายใน 5-10 ปี โดยจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่ภาคธุรกิจซึ่งจะเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมหนัก เช่น ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก ในการเปลี่ยนผ่าน ESG transformation โดยยังมีความท้าทายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น มาตรการ/ข้อกำหนด ESG ของแต่ละประเทศ การเข้าถึงข้อมูล ESG data และ platform สำหรับภาคธุรกิจ
การเปลี่ยนผ่านของรูปแบบการธนาคาร
ธนาคารส่วนใหญ่เปลี่ยนผ่านการทำงานสู่รูปแบบดิจิทัล โดยขณะนี้มุ่งเน้นการ digitize ในกระบวนการทำงานของธนาคารมากกว่าการ digitize การบริการ ขณะที่เทคโนโลยีและ demand ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เช่น การเติบโตของ VC/neo-lenders ในฐานะแหล่งเงินทุนของบริษัทดิจิทัล จะท้าทายความสามารถของธนาคารมากขึ้น โดยคาดว่า mobile banking จะเป็น platform หลัก และ web-based banking จะหมดไปใน 5 ปี
จากสินทรัพย์สู่ “token”
การเปลี่ยนสินทรัพย์สู่ token บนเทคโนโลยี blockchain ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดระเบียบสินทรัพย์ความน่าเชื่อถือ เสริมความปลอดภัย ให้แก่ขององค์กรและนักลงทุน อย่างไรก็ดี นักลงทุนส่วนใหญ่เห็นว่า การใช้ token อาจยังไม่แพร่หลายในเร็ว ๆ นี้ เพราะมีอุปสรรคเรื่องการตรวจสอบการเข้าถึง สิทธิการครอบครอง token ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยรวม
การฉ้อโกงและการฟอกเงิน
การขโมยอัตลักษณ์เพื่อใช้กระทำผิดทางการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการนำเทคโนโลยี AI และ machine learning เข้ามาช่วยตรวจสอบหลักฐานดิจิทัลขั้นต้นอาจช่วยยับยั้งปัญหาได้บ้าง 50-60% ทั้งนี้ การกำกับดูแลด้านระบบ การปรับตัวให้เท่าทันเรื่อง cyber security จึงจำเป็น รวมถึงควรให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมตรวจสอบและทดสอบระบบ โดยคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในแต่ละขั้นตอนเป็นสำคัญ
ความมั่นคงทางไซเบอร์
การโจมตีทางไซเบอร์ การโจรกรรมข้อมูลเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก สถาบันการเงินจึงควรเตรียมรับมือ
มี threat intelligence และมีแผนกู้คืน (recovery) ซึ่งมักถูกมองข้าม ทั้งนี้ EU ได้ออก Digital Operational Resilience Act (DORA) เมื่อปลายปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินมีความพร้อมรับมมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยเน้นที่การป้องกัน ICT infrastructure ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
การอภิปรายทั้งหมดข้างต้น นับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ไทยไม่ควรมองข้าม เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัย การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการเตรียมพร้อมรับมือสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณานำแนวทางบางส่วนไปปรับใช้ในการทำธุรกิจต่อไปได้
*************************
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์