ภาพรวมเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในปี 2567 มีการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (technical recession) โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนั้น เศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรถือว่าเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 โดยขยายตัวร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่ 1 และร้อยละ 0.5 ในไตรมาสที่ 2 โดยมีปัจจัยจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 80 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจร่วมกับการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 2 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2-2.2 จากระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ ที่ร้อยละ 11.1 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายด้านวิกฤตราคาพลังงานโลก
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 สหราชอาณาจักร สูญเสีย momentum ในการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยไม่มีการขยายตัว ในไตรมาสที่ 3 และคาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 เห็นได้จากผลผลิตโดยรวมในเดือนตุลาคมที่หดตัว อาทิ ภาคบริการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ผลผลิตของภาคการผลิตหดตัวร้อยละ -0.6 และผลผลิตภาคก่อสร้างหดตัวร้อยละ -0.3 เป็นต้น โดยมีปัจจัยมาจากภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมชะลอการลงทุน เนื่องจากต้องการรอฟังแผนงบประมาณ Autumn Budget 2024 เพื่อประเมินแนวทางการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาล พรรคแรงงานที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567
ภายหลังการประกาศแผนงบประมาณดังกล่าว ซึ่งมีนโยบายเน้นมาตรการปรับขึ้นภาษีผู้มีรายได้สูง และภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาบประมาณขาดดุลของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการปรับขึ้นเงินสมทบประกันสังคมสำหรับนายจ้าง (Employer’s National Insurance Contributions – NICs) ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมลดลง เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงให้ต้นทุนของภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมสูงขึ้น โดยหลายบริษัทเริ่มชะลอ/ลดการจ้างงานเพิ่ม โดยเห็นได้จากรายงานการจ้างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (Office for National Statistics – ONS) ประจำเดือน ธันวาคม 2567 ที่ระบุว่า จำนวนประกาศรับสมัครงาน (vacancies) ในช่วง กันยายน – พฤศจิกายน 2567 ลดลงจากช่วง มิถุนายน – สิงหาคม 2567 ร้อยละ 3.7 หรือประมาณ 31,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเมื่อผนวกกับการที่ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England – BoE) ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 4.75 จึงทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยดัชนีความมั่นใจของผู้บริโภคลดลงมาอยู่ที่ -18 ในเดือน พฤษภาคม และ -17 ในเดือนธันวาคม
ในภาคบริการโดยเฉพาะการบริการทางวิชาชีพและวิทยาศาสตร์ (Professional, scientific and technical services) อาทิ R&D กฎหมาย บัญชี สถาปัตยกรรม วิศวกรรม ฯลฯ ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ตลอดทั้งปี 2567 โดยรัฐบาลสหราชอาณาจักรอยู่ระหว่างจัดเตรียมแผนกลยุทธ์ “Invest 2035: the UK’s modern industrial strategy” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร ในระยะ 10 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะประกาศแผนดังกล่าวได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2568 โดยมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุนใน 8 สาขาที่มีศักยภาพความเชี่ยวชาญและการเติบโตสูง ได้แก่ (1) บริการทางวิชาชีพ (professional services) (2) วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (life sciences) (3) ดิจิทัลและเทคโนโลยี (4) อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง (advanced manufacturing) (5) อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด (6) อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (7) กลาโหม และ (8) การบริการทางการเงิน
แนวโน้มเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในปี 2568
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 รัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยนาง Rachel Reeves รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักร ได้แถลงแผนงบประมาณ Autumn Budget 2024 โดยกำหนดนโยบายมุ่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน เสริมสร้างกรอบการคลังที่ยั่งยืน และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ อาทิ
(1) การลงทุนภาครัฐ – เพิ่มการลงทุนในภาคสาธารณะ ที่ร้อยละ 2.6 ของ GDP โดยจะมีการลงทุนเพิ่มเติมกว่า 100,000 ล้านปอนด์ในช่วงอีก 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการลงทุน ด้านการขนส่ง ที่อยู่อาศัย R&D และการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมาย Net Zero ฯลฯ
(2) สาธารณสุข – การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่ NHS จำนวน 22,600 ล้านปอนด์ เพื่อลดระยะเวลาการรอรับการรักษา/เพิ่มเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิต 8,500 ตำแหน่ง และเพิ่มเครื่องตรวจหามะเร็ง ฯลฯ
(3) มาตรการภาษี – ปรับขึ้นภาษีกำไรจากการขายสินทรัพย์ (Capital Gains Tax) จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 18 / ยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าธรรมเนียมโรงแรมเอกชน / ปรับขึ้นภาษีผู้โดยสารทางอากาศสำหรับเครื่องบินส่วนตัวที่ร้อยละ 50 หรือสูงสุดไม่เกิน 450 ปอนด์/คน/เที่ยวบิน / ยกเลิกระบบภาษี สำหรับผู้ไม่มีถิ่นที่อยู่ในสหราชอาณาจักร (Non-domiciled residents in the UK: Non-dom) ตั้งแต่เดือน เมษายน 2568 เป็นต้นไป
(4) ภาคธุรกิจ – ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจบริการและธุรกิจสันทนาการจะได้รับการผ่อนปรนภาษี (business tax relief) ในอัตราร้อยละ 40 หรือไม่เกิน 110,000 ปอนด์ / ปรับขึ้นเงินสมทบประกันสังคม (NICs) สำหรับนายจ้างจากร้อยละ 13.8 เป็นร้อยละ 15 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ IMF, OECD และ บริษัท KPMG ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ในปี 2568 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 – 1.7 โดยคาดว่านโยบายที่มุ่งเพิ่มการลงทุนของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนในระยะยาวจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตต่อไป
อีกทั้ง นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรจะอยู่ที่ร้อยละ 2-3 ในปี 2568 และ 2569 (สูงกว่าเป้าหมายที่ BoE ตั้งไว้ที่ร้อยละ 2) และคาดว่า BoE จะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 4 ภายในสิ้นปี 2568
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือน มกราคม 2568 ได้เกิดเหตุการณ์ความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ทั่วโลก (global bond market) ซึ่งมีปัจจัยมาจากการที่นักลงทุนตื่นตระหนก/เร่งเทขายตราสารหนี้เอกชน/พันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยกระแสดังกล่าวได้ส่งผลให้นักลงทุนเทขายพันธบัตรของ รัฐบาลสหราชอาณาจักรด้วย เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับภาระงบประมาณที่รัฐบาลสหราชอาณาจักร จะต้องจัดหามาจ่ายคืน รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเข้าสู่ภาวะตกต่ำและเงินเฟ้อ ประกอบกับผลกระทบจากแผนงบประมาณ Autumn Budget 2024 ที่มีแนวโน้มจะทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ชะลอตัวจากการปรับขึ้นภาษีธุรกิจและอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในระยะยาว โดยต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวของรัฐบาลสหราชอาณาจักร (borrowing cost) ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการกู้ยืม 10 ปี / 30 ปี ได้พุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลก และค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงได้ร่วงลงมาแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน เมษายน 2567 จากการเทขายพันธบัตรที่ทวีความรุนแรง
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน