ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา กาตาร์ยกระดับบทบาททางเวทีโลกที่เข้มแข็งในด้านความมั่นคงทางพลังงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการที่ผู้นำหรือผู้แทนประเทศระดับสูง เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เข้าเยือนกาตาร์และหารือทางด้านพลังงาน
โดยเศรษฐกิจมูลค่าการค้ารวมในปี พ.ศ. 2565 ของกาตาร์ เกินดุลถึง 354.85 พันล้านกาตาร์ริยาล หรือประมาณ 97.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสัดส่วนการส่งออกสูงกว่าปีก่อน (พ.ศ. 2564) ร้อยละ 50 โดยมีสินค้าส่งออกหลัก คือ ก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ไฮโดรคาร์บอนอื่น ๆ รวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2565 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และสินค้านำเข้าหลัก คือ ชิ้นส่วนอวกาศยาน รถยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่การนำเข้าได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 19.3
คู่ค้าที่สำคัญของกาตาร์ ได้แก่ จีน อินเดีย และเกาหลีใต้ ตามลำดับ รวมทั้งคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และ ซาอุฯ ตามลำดับ ตลอดจนคู่ค้าหลักในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ ซึ่งการค้ากับประเทศนอกภูมิภาคมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ กาตาร์ได้เริ่มก่อสร้างโครงการ North Field Expansion หรือ NFE เพื่อขยายกำลังการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในแหล่ง North Field หรือ แหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ! โดยมีมูลค่าโครงการ 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2568 เป็นผลให้กาตาร์จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตจากประมาณ 77 ล้านตันต่อปี เป็น 126 ล้านตันต่อปี โดยมีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 64 ภายในปี พ.ศ. 2570
ทั้งนี้ แม้กาตาร์จะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ไฮโดรคาร์บอนอื่น ๆ ซึ่งนับเป็นสินค้าส่งออก 4 อันดับแรก แต่กาตาร์ก็ตระหนักเป็นอย่างดีถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่พยายามลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมีการเตรียมรับมือและปรับตัวมาใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ พลังงานสะอาดมากขึ้น ดังนั้น กาตาร์จึงพยายามเชื่อมโยงก๊าซธรรมชาติในฐานะตัวเชื่อม (bridge) สู่พลังงานสะอาด เนื่องจากการสร้างมลพิษน้อยกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ ควบคู่ไปกับการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานภายในประเทศ ซึ่งเห็นได้จากการเปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาอีกด้วย ตลอดจนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อช่วยในการบรรลุเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 25 ภายในปี พ.ศ. 2573
แนวโน้มเศรษฐกิจกาตาร์ ปี พ.ศ. 2566
จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา กาตาร์ได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น โดยในเดือน มกราคม พ.ศ. 2566 มีการออกอนุญาตก่อสร้างอาคารถึง 721 แห่ง ซึ่งร้อยละ 86 เป็นอาคารที่อยู่อาศัย (Villa) นับว่าเป็นสัญญาณที่น่าจับตามอง เนื่องจากการก่อสร้างสามารถเป็นเครื่องบ่งชี้หนึ่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นที่มาพร้อมกับการจ้างแรงงานจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีหลักประกันที่แน่ชัดว่าความต้องการของการซื้อที่อยู่อาศัยในกาตาร์จะมากขึ้นมากเท่าใด หรือจะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเกิดภาวะฟองสบู่ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ตามมาหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจาก 1) จำนวนโรงแรมที่มากขึ้นตั้งแต่ช่วงฟุตบอลโลกแต่จำนวนนักท่องเที่ยวมีการลดลง 2) มาตรการการเข้าประเทศที่เข้มงวดจากการกำหนดให้ซื้อประกันสุขภาพของประเทศ และ 3) บรรยากาศโดยรวมของประเทศที่ซบเซาลงหลังจากจบฤดูกาลฟุตบอลโลก
อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่ากาตาร์จะเริ่มมีบทบาททางการต่างประเทศที่มากขึ้นหลังจากให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าภาพการจัดฟุตบอลโลกตลอดปี พ.ศ. 2565 จึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่สามารถมุ่งเน้นประเด็นเฉพาะด้านได้รวดเร็วมากขึ้น โดยการผลักดันขีดความสามารถและศักยภาพด้านการเป็น Medical Hub ของประเทศไทย นอกจากนี้ ความร่วมมือในลักษณะไตรภาคีด้านความมั่นคงทางอาหารยังเป็นประเด็นที่ไทยสามารถร่วมมือกับกาตาร์เพื่อให้การสนับสนุนในประเทศที่ 3 อีกด้วย
_____________________________________________________
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์