หลังจากโรงภาพยนตร์ในจีนต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิค-19 กว่า 3 ปี ในที่สุดก็กลับมาคักคึกอีกครั้งโดยทั่วทั้งจีนมียอดขายตั๋วภาพยนตร์ 6,758 ล้านหยวน และในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมานี้ เซี่ยงไฮ้มียอดขายตั๋วภาพยนตร์สูงที่สุดในจีน ทำลายสถิติครั้งใหม่โดยมียอดขายตั๋ว 262 ล้านหยวน (คิดเป็น 3.9% ของยอดขายตั๋วในจีน) สูงเป็นอันดับ 1 ในจีน แซงหน้ากรุงปักกิ่ง (260 ล้านหยวน) และนครเฉิงตู (144 ล้านหยวน) ขณะเดียวกันเซี่ยงไฮ้มีผู้ชมภาพยนตร์ช่วงตรุษจีนปีนี้รวมกว่า 3.88 ล้านคน-ครั้ง (คิดเป็น 3% ของผู้ชมทั่วทั้งจีน) และฉายภาพยนตร์มากถึง 75,700 รอบ (คิดเป็น 2.9% ของจำนวนรอบฉายทั้งหมดในจีน) สะท้อนแนวโน้มการฟื้นคืนของตลาดภาพยนตร์จีนในปีนี้
นักวิจารณ์ภาพยนตร์จีนวิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชาวจีนหันกลับมาเข้าชมภาพยนตร์อย่างคึกคัก คือ เนื้อหาที่มีคุณภาพสูง มีจุดเด่นที่ดึงดูดความสนใจ โดยเมื่อวิเคราะห์จากภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงในช่วงตรุษจีน พบว่า เป็นภาพยนตร์แนวย้อนยุคที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสืบสวนคดีลึกลับ และภาพยนตร์แนว sci-fi ผสมผสานค่านิยมและวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมกับโลกอนาคต
เทศกาลภาพยนตร์เซี่ยงไฮ้.. เปิดโอกาสหนังไทยบุกตลาดจีน
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเซี่ยงไฮ้ (Shanghai International Film Festival: SIFF) เป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในจีน และเป็น platform สำคัญที่ช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างชาติ สร้างโอกาสให้ภาพยนตร์ต่างชาติสามารถเข้ามาโปรโมทผลงานและทดลองกระแสนิยมในจีน และสร้างโอกาสขยายความร่วมมือระหว่างธุรกิจภาพยนตร์ โดยงาน SIFF เริ่มขึ้นในปี 2541 และจัดมาแล้วกว่า 24 ครั้ง
ภาพยนตร์ไทยได้เข้าร่วมฉายอย่างต่อเนื่องในงาน SIFF 10 ครั้งหลังสุด ด้วยการสนับสนุนของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดในงาน SIFF ครั้งที่ 24 เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 มีภาพยนตร์ไทยได้รับคัดเลือกให้ฉายถึง 7 เรื่อง ใน 13 โรงภาพยนตร์ทั่วเซี่ยงไฮ้ ได้แก่ (1) อ้ายคนหล่อลวง (2) My Rhythm (3) พญาโศกวิโยคค่ำ (4) พันธนาการ (5) หัวใจทองคำ (6) Lotus Never Dies และ (7) ใจจำลอง โดยตั๋วภาพยนตร์ไทยถูกจองหมด 100% ภายในระยะเวลารวดเร็ว
ทั้งนี้ จีนมีข้อกำหนดเรื่องเนื้อหาของภาพยนตร์ที่สามารถเข้าฉายในประเทศ และมี “โควต้า” การนำภาพยนตร์ต่างชาติเข้ามาฉายในจีนในแต่ละปี อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์ไทยที่ได้เคยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในจีน เช่น “อินทรีย์แดง” และ “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก” ล้วนได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึง “บุพเพสันนิวาส 2” “รักแห่งสยาม” “วัยรุ่นพันล้าน” “ฉลาดเกมส์โกง” “ต้มยำกุ้ง” “เด็กหอ” “Yes or No” ก็เป็นที่นิยมในแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีนอย่าง Youku (优酷) และ Tencent (腾讯) ด้วย
งาน SIFF จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย โดยปี 2566 นี้ งาน SIFF ครั้งที่ 25 จะจัดในเดือนมิถุนายน จึงขอเชิญชวนผู้สนใจหรือค่ายภาพยนตร์ของไทยเสนอภาพยนตร์เข้าฉายในงาน โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.siff.com
นอกจากนี้ ตลาดภาพยนตร์ในงาน SIFF ครั้งที่ 25 (Film and TV Series Market) จะจัดระหว่างวันที่ 10 – 12 มิถุนายน 2566 ที่ Shanghai Exhibition Center นครเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งมีรูปแบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 19 – 23 มิถุนายน 2566 ซึ่งจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการภาพยนตร์ไทยในการผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์และ content ของไทย ตลอดจนประชาสัมพันธ์การถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ซึ่งการที่ประเทศไทยและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องของไทยจะเข้าร่วมงาน SIFF และตลาดภาพยนตร์ในงาน SIFF ในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง จะเป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือไม่เพียงแต่ระหว่างไทยกับนครเซี่ยงไฮ้ แต่กับจีนและต่างประเทศในภาพรวม
****************
ข้อมูล: สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
เรียบเรียง: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์