เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2566 กระทรวงการต่างประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้จัดการประชุม “Baltic Offshore Wind Forum” โดยมี Annaalena Baerbock รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากหลายประเทศในภูมิภาคทะเลบอลติกเข้าร่วม ได้แก่ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ โปแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจสาขาพลังงานเข้าร่วมหารือในด้านการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเลบอลติก เพื่อร่วมกันสร้างความมั่นคงด้านพลังงานภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเน้นนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานของพลังงาน โดยเฉพาะการขยายโครงสร้างไฟฟ้า การเพิ่มกำลังผลิตของฟาร์มกังหันลม และการเพิ่มจำนวนพื้นที่สำหรับการทำฟาร์มกังหันนอกชายฝั่งทะเลบอลติก
โดย Annaalena Baerbock ได้กล่าวเปิดการประชุมในฐานะประธาน The Council of the Baltic Sea States (CBSS) โดยระบุว่า 1) การประชุมดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นเวทีที่เปิดโอกาสในการสร้างความร่วมมือด้านพลังงานของประเทศในภูมิภาคทะเลบอลติก ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันสู่การบรรลุเป้าหมายด้านการปกป้องสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงของภาคีภายใต้กรอบการประชุม COP 2) เน้นย้ำว่าทะเลบอลติกเป็นขุมทรัพย์ของพลังงานสีเขียว เนื่องจากทะเลบอลติกมีศักยภาพในการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งกว่า 93 กิกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตที่เทียบเท่าโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดกลางรวมกันประมาณ 90 แห่ง 3) การแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพลังงานลมที่มีบทบาทสำคัญต่อทุกประเทศทั่วโลก โดยการประเมินของ The International Renewable Energy Agency หรือ Irena เผยว่าทั่วโลกสามารถเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานลมจาก 740 กิกะวัตต์ เป็น 6,000 กิกะวัตต์ ภายในปี พ.ศ.2593 4) ผลักดันโครงการด้านพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเลบอลติก โดยระบุว่าจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในภูมิภาคและการลงทุน อย่างไรก็ตาม การปรับกระบวนการสำหรับการประมูลโครงการที่เหมาะสมนับเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และ 5) การแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกังหันลมที่ติดตั้งนอกชายฝั่งทะเลบอลติกที่จะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาคทะเลบอลติก เนื่องจากสามารถช่วยลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศได้
นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าว กลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการขนส่งพลังงานของเยอรมนี (Transmission System Operator : TSO) ได้แก่ 1) บริษัท 50 Hertz Transmission 2) บริษัท Amprion GmbH 3) บริษัท TanneT TSO GmbH และ 4) บริษัท Transnel BW GmbH ได้มีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent : LOT) กับกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการขนส่งพลังงานของลิทัวเนีย เพื่อทำความร่วมมือการสร้างเคเบิลใต้น้ำแบบไฮบริด ระยะทาง 750 กิโลเมตร ในทะเลบอลติกที่เชื่อมต่อระหว่างเยอรมนีและลิทัวเนียภายใต้ชื่อโครงการ “Baltic Wind Connector” โดยสายเคเบิลใต้น้ำดังกล่าวจะใช้ขนส่งไฟฟ้าที่ผลิตได้จากฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งทะเลบอลติกของลิทัวเนียมายังเยอรมนี
ทั้งนี้ บริษัท 50 Hertz Transmission ของเยอรมนีที่บุกเบิกด้านโครงข่ายไฟฟ้าในทะเลบอลติก และ กลุ่ม บริษัท TSO ของ ลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ยังได้มีการลงนาม LOT ร่วมกันอีก 1 ฉบับ เพื่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้าเชื่อมโยงฟาร์มกังหันลมในภูมิภาคทะเลบอลติกภายใต้โครงการ “Meshed Offshore Grids”
ข้อมูล : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
เรียบเรียงโดย : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์